ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา
จิตวิทยา
(Psychology) คำว่า Psychology (จิตวิทยา)มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ ได้แก่ Psyche (Mind = จิตใจ) และ Logos (Knowledge = ศาสตร์ องค์ความรู้)
ความหมายโดยรวมของ Psychology จึงหมายถึง
ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของอินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ
โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจทำนาย และควบคุมพฤติกรรมนั้นๆได้
*สามารถติดตามตำนาน เทพนิยายของ Psyche หญิงสาวผู้ถูกนำชื่อมาใช้ในการอธิบายวิทยาการทางจิตวิทยาทั้งมวลได้ในส่วนของ
Mythology ในโอกาสต่อไป
ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา
จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก
ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น
ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้
โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ
แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้
การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยแนวคิดทางศาสนาเน้นว่าจิตเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย
ในคริสต์ศตวรรษที่
1 การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ๆ
มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการก็เริ่มมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอน กล่าวว่า “ทฤษฎีให้แนวทาง การวิจัยให้คำตอบ” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย
กลางคริสต์ศตวรรษที่
17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มประจักษ์นิยมชาวบริเตน (British Empiricism) ที่เชื่อว่า
ความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางของความรู้สึก จิตเป็นที่รวมของความคิดเห็น
นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธนิยม (Associationistic Psychology) นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งกลับสนใจทางชีวภาพ
เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และ
ลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) นักจิตวิทยากลุ่มนี้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์
คือ จิตฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกที่ผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา
จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นวิชาที่จัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์
โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรม (Understanding Behavior) ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอก
กระบวนการทางจิต (Mental
Process) ที่เกิดขึ้นภายใน
อันจะทำให้สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
2.
เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายพฤติกรรม (Explanation Behavior) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้
พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นต่างมีเหตุจูงใจในการแสดงพฤติกรรมทั้งสิ้น
ดังนั้นนักจิตวิทยาจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ
เพื่ออธิบายถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ๆ
3.
เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถทำนายพฤติกรรม (Prediction Behavior) ซึ่งการทำนายนั้นหมายถึงการคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง
ๆ ได้อย่างเหมาะสม
4.
เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถควบคุมพฤติกรรม (Control Behavior) ที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดลงหรือหมดไป
โดยในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องสามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นใหม่ด้วย
5. เพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (Application) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
โดยไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ เกิดขึ้นกับตนเอง
และ/หรือสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ขอบข่ายของจิตวิทยา
ปัจจุบันนั้น
จิตวิทยาได้แตกแขนงออกไปเป็นหลากหลายสาขา
โดยจะเน้นศึกษาพฤติกรรมในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป
โดยขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายของแต่ละสาขานั้นเป็นไปในทิศทางใด
ซึ่งสามารถจำแนกขอบข่ายของจิตวิทยาได้ 2 ประเภท ได้แก
1.
ขอบข่ายพื้นฐาน (Basic
Fields)
1) จิตวิทยาทั่วไป (General or Pure Psychology) เป็นจิตวิทยาที่มุ่งศึกษาถึงกฎเกณฑ์
ทฤษฎีพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมโดยทั่ว ๆ ไปของมนุษย์
เป็นการปูพื้นฐานทางจิตวิทยา
2) จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) เป็นการศึกษาถึงกระบวนการต่าง ๆ
ของสิ่งมีชีวิตในสภาพการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้ การลืม การจำ
โดยใช้วิธีการทดลองเป็นหลักสำคัญในการศึกษาค้นคว้า
และนำผลที่ได้จากการทดลองไปสร้างเป็นทฤษฎีและเกณฑ์เพื่อประยุกต์ในวิชาการแขนงต่าง
ๆ
3) จิตวิทยาเชิงสรีรวิทยา (Physiological Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ซึ่งเป็น
องค์ประกอบพื้นฐานในการก่อเกิดการแสดงออกทางพฤติกรรม
เน้นถึงโครงสร้างหน้าที่การทำงานของอวัยวะที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการเกิดพฤติกรรมโดยเฉพาะ
4) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับบทบาท ความสัมพันธ์
และพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในสังคม โดยเน้นไปที่การสำรวจมติมหาชน ทัศนคติ
ค่านิยม รวมไปถึงวัฒนธรรมของแต่ละสังคม
เพื่อสรุปเป็นเกณฑ์สำหรับอธิบายพฤติกรรมของสังคมแต่ละสังคม
5) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology or Genetic
Psychology) เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นถึงพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ
ตลอดจนอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น อารมณ์
สติปัญญา เป็นต้น
2.
ขอบข่ายประยุกต์ (Applied
Fields)
1) จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ทฤษฎีเพื่อใช้ในการศึกษา
พัฒนาการเรียนการสอน เน้นให้เกิดความรู้อย่างแท้จริงตามปรัชญาทางการศึกษา
2) จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) มุ่งศึกษาเหตุแห่งความ
ผิดปกติทางพฤติกรรม เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาในด้านต่าง ๆ เช่น อารมณ์
พฤติกรรม อาการป่วยทางจิตใจ ตลอดจนการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตด้วย
3) จิตวิทยาการให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) มุ่งศึกษาถึงเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ
เพื่อช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหาทางอารมณ์และจิตใจได้เข้าใจและเห็นแนวทางในการเลือกแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
4) จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานในงานประเภทอุตสาหกรรม
ในแง่ของ ประสิทธิภาพในการทำงาน ผลของสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อคนงาน
การสร้างขวัญและการจูงใจ
การคัดเลือกบุคคล
ตลอดจนการประเมินการทำงานในสถานประกอบการทั้งหลาย
เพื่อค้นหากระบวนการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงานอุตสาหกรรม
5) จิตวิทยาเปรียบเทียบ (Comparative Psychology) มุ่งศึกษาความเหมือนและแตกต่างของพฤติกรรมการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
นอกจากนี้
ในขอบข่ายของจิตวิทยาประยุกต์นั้นยังมีอีกมากมาย เช่น จิตวิทยา ชุมชน (Community Psychology) จิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) จิตวิทยาบำบัด (Therapy Psychology) จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology) จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) เป็นต้น
ระเบียบวิธีการศึกษาทางจิตวิทยา
จิตวิทยานั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทางพฤติกรรมหรือที่เรียกกันว่า
พฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุผลที่จิตวิทยานั้นได้นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อค้นคว้าหาคำตอบ
เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมานั้น ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่
1. ตั้งปัญหา (Formulating Problem)
เป็นขั้นตอนที่จะต้องกำหนดปัญหาที่จะศึกษาค้นคว้าอย่างชัดเจนว่าต้องการค้นคว้าศึกษาหาคำตอบในเรื่องใด
นั่นคืออะไรที่ทำให้เราเกิดความสงสัยใคร่รู้นั่นเอง
2. ตั้งสมมติฐาน (Stating Hypothesis)
หลังจากที่ได้กำหนดปัญหาที่ชัดเจนแล้ว
ผู้ศึกษาควรคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดย อาจอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน
แต่ไม่ใช่การเดาสุ่มอย่างไม่มีหลักเกณฑ์
การตั้งสมมติฐานเปรียบเสมือนกับแผนที่ในการเดินทางสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
3. รวบรวมข้อมูล (Collecting Data)
ทั้งนี้ทฤษฎีบางอย่างอาจมีข้อจำกัดหรือเบี่ยงเบนตามสภาพแวดล้อมหรือสาเหตุที่ซ้อนเร้นที่ผู้ศึกษาไม่ทราบ
ดังนั้นหลังจากการตั้งสมมติฐานแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องทำการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ
มาเพื่อสนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ อาจทำได้หลายวิธีเช่น การสังเกต การสัมภาษณ์
การใช้แบบทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น
ซึ่งในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดขึ้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด
เนื่องจากผลวิเคราะห์ที่ออกมามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูล
วิธีการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้ในทางจิตวิทยานั้น
สามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
1) วิธีการสังเกต (Observation Method)
เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์จริงอย่างมีจุดมุ่งหมาย
และทำการบันทึกพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ
และอารมณ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด การสังเกตสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- การสังเกตอย่างมีแบบแผน (Formal Observation) นั่นคือ
การสังเกตที่มีการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า มีการวางแผน กำหนดเวลา สถานการณ์ สถานที่
พฤติกรรม และบุคคลที่จะสังเกตไว้อย่างครบถ้วน
- การสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน (Informal Observation) เป็นการสังเกตอย่างกระทันหันทันทีทันใด
ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม
ผู้สังเกตควรจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการสังเกตด้วย
2) วิธีการทดลอง (Experimental Method)
หมายถึง
การจัดสร้างหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์
เพื่อสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
ซึ่งโดยมากแล้วจะกระทำกันในห้องปฏิบัติการ (Laboratory Experiment) โดยในการทดลองนี้มักจะแบ่งกลุ่มการทดลองออก
3) วิธีการสำรวจ (Survey)
เป็นวิธีการอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
เพราะเป็นวิธีการที่ใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่มากนัก
แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงนั่นคือ
หากกลุ่มประชากรมีจำนวนที่มากเกินการสำรวจได้อย่างทั่วถึง
จะต้องมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง (Sample Group) จากกลุ่มประชากรเพื่อนำมาเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด
วิธีการในการสำรวจ อาทิ แบบสอบถาม สัมภาษณ์ เป็นต้น
4) การทดสอบ (Testing)
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการศึกษาทางจิตวิทยา
เนื่องจากการทดสอบจะใช้แบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized test) ที่นักจิตวิทยาสร้างขึ้นเพื่อวัดหรือประเมินลักษณะทางพฤติกรรม
5) การสัมภาษณ์ (Interview)
เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสนทนาระหว่างบุคคล
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ละเอียดและลึกมากยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างดี
โดยเฉพาะการสื่อความหมายที่ต้องเน้นให้เหมาะสม ในการสัมภาษณ์นั้นจะต้องใช้วิธีการสังเกตในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ทั้งนี้เพื่อดูพฤติกรรมระหว่างการสัมภาษณ์อีกด้วย
6) วิธีการทางคลินิก (Clinical Methods)
เป็นเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลรายบุคคล
(Individual Case) ซึ่งจะใช้เฉพาะบุคคลที่มีอาการทางจิตเท่านั้น
7) การสืบประวัติ (Case History)
เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อหาเหตุแห่งพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
โดยการศึกษาถึงประวัติย้อนหลังซึ่งอาจมาจากบันทึก คำบอกเล่าของผู้ถูกศึกษา
ญาติพี่น้อง รวมทั้งบุคคลใกล้ชิด แต่ทั้งนี้
เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในวิธีการนี้ จึงอาจต้องใช้วิธีการอื่น
ๆ ประกอบร่วมด้วย
8) การตรวจสอบจิตตนเอง (Introspection Method)
เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลโดยให้มีการสำรวจทบทวนตนเองในช่วงเวลาเกิดปัญหาที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ถูกศึกษาอย่างจริงจังด้วย
มิฉะนั้นข้อมูลที่ได้อาจเกิดการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้มาก
4. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis and Testing Data)
เมื่อรวบรวมข้อมูลได้มากพอที่จะสนับสนุนสมติฐานแล้ว
จึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อทำการทดสอบสมมติฐานดังกล่าว
ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลอาจทำได้โดยการหาค่าทางสถิติต่าง ๆ แล้วจึงนำค่าเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับสมมติฐานที่กำหนดไว้
แล้วจึงแปลความจากค่าสถิติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
5. ประเมินผลและสรุป (Conclusion)
หลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น
ควรมีการสรุปผลเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
6. การนำไปใช้ (Applied Finding)
เป็นการนำผลที่ได้จากขั้นตอนที่ 5 ไปใช้อธิบายพฤติกรรมหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นในโอกาสต่อไป
แนวความคิดของนักจิตวิทยาในกลุ่มต่าง ๆ
แนวความคิดแรกเริ่มของผู้ศึกษาจิตวิทยานั้นเริ่มมาจากแนวความคิดทางปรัชญาเป็นแกน
แต่ต่อมาเมื่อระยะผ่านไปจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19
จิตวิทยาได้มีการเปลี่ยนแนวทางการศึกษามาเป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
จึงทำให้วิชาจิตวิทยานั้นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
จนทำให้เกิดแนวความคิดทางจิตวิทยาที่หลากหลายต่าง ๆ กันออกไป
ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีแนวความคิดที่มีแตกต่างกันในประเด็นหลัก 3
ประเด็น คือ
1. สิ่งที่สนใจศึกษาหรือจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน
เนื่องจากความเชื่อและความเข้าใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
2. วิธีการในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน
3. ยึดทฤษฎีหรือหลักเกณฑ์ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์แตกต่างกัน
ด้วยเหตุแห่งความต่างทั้ง 3
ประเด็นหลักนี้เองจึงทำให้สามารถแบ่งกลุ่มแนวความคิดทางจิตวิทยาได้ ดังนี้
1. กลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism)
หรือกลุ่มโครงสร้างนิยม
จิตวิทยาในกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มบุกเบิกวงการ
จิตวิทยาให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์
ผู้ก่อตั้งคือ
วิลเฮล์ม แมกซ์ วุนต์ (Wilhelm Max
Wundt) ผู้ก่อตั้งกลุ่มโครงสร้างนิยม
โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านจักษุสัมผัส (Vision) ปฏิกิริยาตอบสนอง
(Reaction time) ต่อสิ่งเร้า
ความสนใจและความจำ เป็นต้น
2. กลุ่มหน้าที่ของจิต
(Functionalism)
ผู้นำของกลุ่มนี้คือ จอห์น ดิวอี้ (John
Dewey) และวิลเลียม เจมส์ (William James) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
ค.ศ. 1900
ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมภายในเช่นเดียวกับกลุ่มโครงสร้างของจิต
แต่ต่างกันตรงที่นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ของจิตและกระบวนการที่ส่งผลต่อการแสดงออกของบุคคล
3. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
กลุ่มของแนวความคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีบทบาทสำคัยอย่างมากต่อวงการจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา
ผู้นำในกลุ่มแนวคิดนี้คือ จอห์น บี . วัตสัน (John B. Watson) ซึ่งเป็นศิษย์ของวิลเลียม
เจมส์ มาก่อน
แต่มีแนวคิดที่แตกต่างจากเจมส์ในเรื่องของวิธีการศึกษาพฤติกรรมซึ่งใช้การตรวจสอบจิตตนเอง
เนื่องจากมีความเโน้มเอียงที่จะแทรกความรู้สึกส่วนตัวและมีอคติเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใดได้ง่านตามความรู้สึกของผู้ถูกศึกษา
(Subjective)
4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
เป็นอีกกลุ่มจิตวิทยาที่มีบทบาทและความสำคัญต่อวงการจิตวิทยา
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม นี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) โดยทั้งนี้ทฤษฎีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะได้มาจากประสบการณ์ในการรักษาคนไข้โรคจิตในคลีนิกของเขานั่นเอง
ความคิดหลักของฟรอยด์นั้นเชื่อว่า
จิตมีลักษณะเป็นพลังงานที่เรียกว่า พลังงานจิต (Psychic Energy) ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและคงที่
ไม่มีทางทำลายหรือสร้างขึ้นมาได้ใหม่ แต่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ฟรอยด์ได้วิเคราะห์จิตของมนุษย์ออกเป็น 3
ระดับ ได้แก่
1) จิตสำนึก
(Conscious) เป็นจิตที่มีสติตลอดเวลา
แสดงออกไปอย่างรู้ตัวตามเหตุผลและเป็นที่ยอมรับในสังคม
2) จิตกึ่งสำนึก
(Pre-conscious or Subconscious) เป็นจิตที่ยังอยู่ในระดับที่รู้ตัวเช่นกัน
เพียงแต่
ถูกควบคุมไม่ให้แสดงพฤติกรรมออกมา
แต่ก็สามารถแสดงออกได้ เพียงแต่บางพฤติกรรมสังคมอาจไม่ยอมรับ
3) จิตใต้สำนึก
(Unconscious) จิตระดับเป็นที่สะสมสิ่งต่าง ๆ
ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ไว้มากมาย
แต่ถูกกระบวนการทางจิตเก็บกดไว้ในจิตส่วนลึก ซึ่งถ้ามองเผิน ๆ
อาจเหมือนกับสิ่งที่ถูกลืมไปแล้ว แต่แท้จริงยังคงอยู่ในรูปของตะกอนจิตใจ
ซึ่งสามารถจะฟุ้งขึ้นมาเมื่อขาดการควบคุม โดยอาจเผยในรูปของความฝัน การละเมอ
หรือเผลอพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ
ตามทฤษฎีของฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมต่าง ๆ
ของมนุษย์ที่แสดงออกมานั้นสืบเนื่องมาจากการทำงานของพลังงานทางจิต 3
ส่วน ได้แก่
1) อิด
(Id) คือ ส่วนของความอยาก ความต้องการ จัดว่าเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่เกิด
เป็นพลังงานที่ผลักดันให้เกิดการตอบสนองความต้องการโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใด ๆ
ทั้งสิ้น จัดอยู่ในส่วนของจิตใต้สำนึก
2) อีโก้
(Ego) เป็นพลังงานส่วนประนีประนอมระหว่างอิด (Id)
กับ ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เพื่อให้มีการแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ตอบสนองออกมาตามสภาพที่สังคมยอมรับได้
หรือเหมาะสมกับสภาพสังคมนั้น ๆ ตามหลักแห่งความเป็นจริง (Reality
Principle) เท่ากับว่าอีโก้เป็นตัวบริหารจิตให้เกิดความสมดุล
คล้ายกับกรรมการห้ามทัพระหว่างอิดกับซูเปอร์อีโก้ ซึ่ง อีโก้นั้นจะอยู่ในส่วนของจิตสำนึกที่รู้ตัวตลอดเวลา
3) ซูเปอร์อีโก้
(Super Ego) เป็นพลังงานทางจิตซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการเรียนรู้ระเบียบ
กติกา กฎเกณฑ์ ศีลธรรมของสังคม เป็นส่วนของคุณธรรมในแต่ละบุคคล
ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูและการขัดเกลาจากสังคมในระดับต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นเติบโตมา
เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ทำตามหลักอุดมคติ (Ideal Principle)ที่พึงปรารถนาของสังคม
โดยทั่วไปแล้วในแต่ละสถานการณ์
พลังงานทั้งสามจะเกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ
5. กลุ่มจิตวิทยาเกสตัลต์ (Gestalt
Psychology)
เป็นกลุ่มจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะในเรื่องของวงการจิตวิทยาการศึกษา
กลุ่มเกสตัลต์ได้ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศเยอรมนีราวปี ค . ศ . 1912
ซึ่งใกล้เคียงกับการกำเนิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ประกอบไปด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน โดยการนำของ แมกซ์
เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer)
ทฤษฎีของกลุ่มเกสตัลต์ให้ความสำคัญกับปัจจัย 2
ประการ ได้แก่ การรับรู้และการหยั่งเห็น
1) การรับรู้
(Perception) เป็นการแปลผลโดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่แต่ละบุคคลได้ประสบมาช่วยในการแปลความหมายที่เกิดจากการรับสัมผัสนั้น
ๆ เหตุนี้เอง จึงเป็นผลให้สิ่งเร้าหนึ่งสิ่งสามารถทำให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นมีประสบการณ์อย่างไร
2) การหยั่งเห็น
(Insight) โดยทั่วไปเมื่อบุคคลเกิดปัญหาและสามารถแก้ไขได้โดยลุล่วงแล้ว
ก็จะมีแนวโน้มที่บุคคลนั้นจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมมาใช้แก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกันอีก
แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาใหม่ แล้วสามารถค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน
ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า การหยั่งเห็น
ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์สั่งสมไว้มากพอสมควร
จนสามารถประยุกต์ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่าน ๆ มาเพื่อแก้ปัญหาใหม่ได้
6. กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
เป็นกลุ่มที่ได้รับการยิมรับอีกกลุ่มหนึ่งในวงการศึกษาและการให้คำปรึกษา
นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ อัมบราฮัม เอช. มาสโลว์ (Abraham H.
Maslow) คาร์ล อาร์. โรเจอร์ (Carl R. Rogers) และอาร์เธอร์
โคมบ์ (Arther Combs)
ซึ่งแนวคิดพื้นฐานเน้นในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
ดังนี้
1) มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ
มีความต้องการ และความสามารถที่แตกต่างกัน
ไม่สามารถที่จะกำหนดให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจของบุคคลอื่นปรารถนา
ซึ่งมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของกลุ่มพฤติกรรมนิยม
2) มนุษย์ต่างพยายามที่จะค้นหาตนเองและทำความเข้าใจตนเอง
(Self Actualization) รวมทั้งยอมรับในศักยภาพของตนเอง
3) มนุษย์จะเกิดการพัฒนาถึงขั้นสูงสุดของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ต่อเมื่อสามารถเข้าใจตนเองและยอมรับผู้อื่นได้
4) มนุษย์แต่ละคนควรมีโอกาสในการเลือกกระทำสิ่งที่ตนต้องการ
และมีสิทธิแสวงหาประสบการณ์ตามความต้องการของตนเอง
เพราะมนุษย์มีความต้องการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว
และสามารถตัดสินใจที่ตะเลือกทางสำหรับการแก้ปัญหาให้กับตนเองได้
รวมถึงพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเองด้วย
5) ความสำคัญของวิธีการแสวงหาความรู้
ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ต่าง ๆ มีน้ำหนักมากกว่าตัวความรู้และข้อเท็จจริง
เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อ้างอิงมาจาก http://hlinzaii.50webs.com/j1_2.htm